เป็นทายาทรุ่นลูก จะรอดได้ยังไง เปิด 9 ดราม่าทายาทรุ่น 2 ต้องเลือก…เพื่อทางรอด SME 4.0

ทำธุรกิจปวดหัวภายนอกยังดีกว่าปวดหัวภายใน แต่หากเป็นรุ่นลูกที่สืบต่อธุรกิจจากพ่อแล้ว ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องเจอ “ปัญหาปวดหัวภายใน” ทั้งเรื่องการบริหารที่มีลูกน้องเป็นคนเก่าคนแก่สั่งงานได้ยาก, ลูกน้องที่ติดพ่อไม่เชื่อฟังคนลูก และอีกหลายอย่างที่ทายาทรุ่นลูกต้องเจอ 

โดยจากข้อมูลจากงานวิจัยจาก TMB SME Insight ได้เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจ SME กว่า 3 ล้านราย” ซึ่งเป็นทายาท SME จำนวนกว่า 50% หมายความว่า มากกว่าครึ่งนึงนั้นธุรกิจถูกส่งต่อให้รุ่นลูกบริหารต่อ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตกว่า 20% ในเขตกรุงเทพฯ ทำให้ GDP พุ่งขึ้นสูงถึง 55% หรือตีเป็นเงิน 2.7 ล้านบาท

รุ่นลูกที่มีปัญหาในการบริหารงาน มีหลายประเด็น แต่ประเด็นที่เป็น ปัญหาดราม่ายอดฮิตสำคัญๆ ที่เจอมีหลักๆ อยู่ 9 ข้อ คือ

1. มือใหม่หัดบริหาร “เพราะไม่เคย…เลยทำไม่เป็น”

เมื่อทายาทธุรกิจ เข้ามารับช่วงธุรกิจต่อจากครอบครัว โดยที่ไม่เคยฝึกงานและไม่เคยลองทำงานที่ไหนมาก่อน เมื่อจบการศึกษาก็เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัททันที เมื่อรากฐานไม่แน่น ขาด “ประสบการณ์งาน” และ ขาด “ประสบการณ์การบริหารคน” ก็ทำให้บริหารธุรกิจไม่ได้ หรือไม่ราบรื่น จึงต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ (จากการสำรวจพบว่าในจำนวนนี้มีมากถึง 36%)

2. ได้มาแต่ตำแหน่ง “เพราะไม่รู้… เลยไปไม่ถูก”

ทายาทธุรกิจหลายๆ คน ไม่เคยได้รับการสอนงาน หรือการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่ เมื่อไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จึงไม่เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมและไม่สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เปรียบเหมือนคนที่ได้มาแต่ตำแหน่งบน แต่ไม่รู้ว่ารากฐานเกิดขึ้นมาได้ยังไง (จากการสำรวจพบว่าในจำนวนนี้มีมากถึง 34%)

3. ทำงานเหมือนโดนบังคับให้มาทำ เพราะไม่ได้มีใจรัก… เลยทำไปเฉยๆ ให้จบวัน ทำไปงั้นๆ ให้พ้นมือ

จากการสำรวจพบว่า 43% ของทายาทธุรกิจ อยากมีธุรกิจตามความชื่นชอบและแนวคิดของตัวเอง แต่ทว่าต้องจำใจสานต่อธุรกิจของครอบครัว เมื่อไม่มีใจรัก ก็บริหารธุรกิจอย่างไม่เต็มความสามารถ เมื่อประสบปัญหาการแข่งขันหรือการเปลี่ยนแปลง ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถสานต่อหรือต่อยอดธุรกิจให้เจริญเติบโตไปกว่าเดิมได้

4. คู่ค้าไม่อยากสนิทกับทายาทผู้บริหารรุ่นลูก เพราะสนิทกับคนพ่อมากกว่า 

คนเป็นรุ่นลูกเมื่อมาทำแทนพ่อ จะรู้สึกได้เลยว่า คู่ค้าเดิมๆ ยังไม่มีความอยากสนิทด้วย และจะยังไม่ติดต่อหาโดยตรง แต่เลือกที่จะติดต่อกับผู้บริหารรุ่นที่ 1 แทนเนื่องจากยังไม่มีความสนิทที่จะไว้วางใจ โดยอาจจะมองจากประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ที่มีอยู่ ณ ตอนนั้น (โดยในประเด็นนี้มีมากถึง 18% ของทายาทธุรกิจของกลุ่มตัวอย่าง)

5. ทายาทรุ่นลูกไม่น่าเชื่อถือ เพราะเห็นมาตั้งแต่เล็กๆ ตอนนี้มานั่งบริหารเหมือนเป็นเด็กที่ “ปากยังไม่สิ้นกลิ่นนํ้านม”

กว่า 31% ของทายาทธุรกิจในกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ภาพลักษณ์ภายนอก ถูกมองว่าเป็นเด็กจากสายตาทั้งของคู่ค้า ลูกค้า และพนักงานภายในบริษัท เพราะทำอะไรก็ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีผลงานที่โดดเด่นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ที่จะนำพาบริษัทเติบโตต่อไปได้

6. อำนาจการตัดสินใจ ไม่ใช่ของฉัน

บ่อยครั้งที่เมื่อธุรกิจตกมาถึงในรุ่นลูกนั้น คนเป็นรุ่นพ่อแม่ก็ยังมีความเป็นห่วง ตามดูอยู่โดยพบว่า 70% ของทายาทธุรกิจนั้น ยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ จะต้องเซ็น หรือต้องตัดสินใจอะไร ล้วนต้องขอคำชี้แนะ หรือการอนุมัติจากผู้บริหารรุ่นที่ 1 ก่อนเสมอเพื่อความรัดกุม และในบางครั้งจึงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งกันเอง

7. โลกกำลังเปลี่ยน รุ่นลูกทายาทที่เข้ามาใหม่พยายามเปลี่ยน แต่ธุรกิจรุ่นพ่อนั้นไม่ยอมเปลี่ยน

ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตก เพราะมากกว่า 16% ของทายาทธุรกิจ เมื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับผู้บริหารรุ่นที่ 1 มักถูกปฏิเสธปิดกั้นความคิดอยู่เสมอ เพราะคิดว่าทำในสิ่งเดิมๆ มันก็ประสบความสำเร็จมาอยู่แล้ว จะเปลี่ยนใหม่ทำไม ประเด็นนี้คือสิ่งที่ต้องระวัง เพราะในยุคนี้การเปลี่ยนแปลงเข้ามาถึงเร็วมาก การเปลี่ยนแปลงตัวช้านั้นอาจจะหมายถึง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจได้อย่างมากมาย

8. เสียลูกค้า เพราะลูกค้าตามติดแต่ผู้บริหารรุ่น 1 เมื่อผู้บริหารรุ่น 1 วางมือลูกค้าจึงหมดความเชื่อถือไป

พบว่า 27% ของทายาทธุรกิจต้องเสียลูกค้าให้คู่แข่ง เมื่อผู้บริหารรุ่น 1 วางมือ และทายาทธุรกิจเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ เพราะลูกค้าไม่เชื่อมั่นในการบริหารงานของทายาทธุรกิจ

9. สั่งได้จริงหรือ

นอกจากการท้าทายความเชื่อมั่นจากภายนอกบริษัทของทั้งคู่ค้าและลูกค้าแล้ว ทายาทธุรกิจยังต้องเผชิญกับการท้าทายของคนในบริษัท ทั้งพนักงาน เพื่อนร่วมงาน และหุ้นส่วนอาวุโสอีกด้วย โดยพบว่า 85% ไม่ได้รับความไว้วางใจ และถูกท้าทายจากลูกจ้างหรือหุ้นส่วนที่อาวุโสกว่า อีกทั้ง 35% ของพนักงานแสดงความไม่เห็นด้วยทันที ไม่ว่าจะเสนอหรือตัดสินใจอะไร คนที่อยู่มาเก่าก่อนมักจะตั้งแง่ไม่เห็นด้วย แต่ที่หนักกว่าคือ การโดนถามตรงๆ ว่าได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากผู้บริหารรุ่น 1 แล้วหรือไม่

ปมปัญหา 9 ข้อที่พบ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพียงแค่ 3 ข้อนี้ก็สามารถจัดการได้ทุกปัญหาคือ…

  • “เร่งเพิ่มประสบการณ์” ด้วยการพัฒนาตนเองแบบก้าวกระโดด เรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า โดยเข้าไปศึกษาหาความรู้จากหน่วยงานองค์กรต่างๆ เช่น ทักษะการบริหารจัดการ การบริหารบุคลากร รวมถึงการเสริมสร้างทักษะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักบริหารขั้นพื้นฐานที่ควรรู้ แล้วเสริมด้วยองค์ความรู้ที่ยกระดับความเข้มข้นขึ้น เช่น LEAN Supply Chain by TMB หรือคอร์สเรียนรู้การเป็นผู้นำต่างๆ 
  • สร้างความเชื่อมั่น” กับตัวเอง ด้วยการหาสาเหตุให้เจอว่าทำไมลูกค้า คู่ค้า หุ้นส่วนอาวุโส และพนักงาน ไม่ให้ความเชื่อมั่น เมื่อทราบแล้วก็เสริม ปรับ แก้ และหาสถานการณ์เพื่อพิสูจน์ตนเอง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ด้วยการหาลูกค้าและคู่ค้าใหม่ด้วย สำหรับปัญหาผู้ร่วมงานในองค์กรนั้น แนะนำให้กลับมาสำรวจอัตราค่าจ้างและสวัสดิการของบริษัทดูว่าตอบโจทย์และเพียงพอต่อคนทำงานยุคนี้หรือไม่ หากตั้งใจแก้ไขปัญหานี้ด้วยความจริงใจ เชื่อว่าจะได้ใจจากผู้ร่วมงานมากขึ้น
  • อย่ายึดแค่ตัวเองต้อง “ผสานการบริหาร” เมื่อมั่นใจในตนเอง และได้รับความเชื่อมั่นจากคนรอบข้างเพิ่มขึ้น ทายาทธุรกิจก็จะมีความพร้อมมากขึ้นในการบริหารงาน โดยเริ่มจากขอแบ่งอำนาจการตัดสินใจจากผู้บริหารรุ่น 1 อย่างจริงจัง ด้วยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อน เพื่อให้ฝ่ายบริหารและผู้บริหารรุ่น 1 ไว้วางใจในการบริหารงาน พร้อมหาข้อมูลและกำลังสนับสนุนของตนเอง เช่น การหาข้อมูลสถิติต่างๆ การมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมทั้งหาโอกาสทำ Business Matching การจับคู่ธุรกิจเพื่อหาเน็ตเวิร์กที่ดียิ่งกว่า สำหรับการเติบโตและความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคต 

นอกจากนี้ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้เปิดตัว TMB SME Insights (http://tmbbank.com/sme-insights) โดยเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล ข่าวสาร บทความ เทคนิคการบริหารงานสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และบทวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถศึกษาได้อย่างสะดวกและนำไปต่อยอดธุรกิจได้ 

จากงานวิจัย 9 ดราม่าทายาทธุรกิจ รุ่น 2 ทางเลือก-ทางรอดของเอสเอ็มอี 4.0 และแนวทางแก้ปัญหาที่นำเสนอนั้น จะเป็นส่วนช่วยให้ทายาทผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถก้าวผ่านช่วงรอยต่อของการสืบทอดธุรกิจได้อย่างราบรื่น และสามารถเติบโตต่อยอดธุรกิจให้ก้าวไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ท้ายสุดนี้ไม่ว่ายังไง การเป็นทายาทในรุ่น 2 ก็ยังมีปัญหาน้อยกว่าในรุ่น 1 เมื่อเทียบในทุกมุมมองแล้ว เพราะหลายๆ อย่างได้วางเอาไว้แล้ว นับหนึ่ง นับสองแล้ว เหลือแค่การปรับตัวให้ก้าวต่อไป การเป็นทายาทจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถ 

“ปรับตัวให้ได้ แล้วจะได้ทุกอย่าง”
#เพราะSMEต้องได้มากกว่า #GetMOREwithTMB #TMBMakeTHEDifference