จริงอยู่ว่าบริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุดคือ บริษัทที่มีผลประกอบการดีที่สุด เพราะนั่นแปลว่าจะสามารถเลี้ยงดูพนักงานได้อย่างดี แต่นอกจากเรื่องของรายได้ ยังมีเรื่องการบริหารภายในที่สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งเหล่านี้ล้วนละเอียดอ่อนและมองข้ามไม่ได้
จากประสบการณ์ที่เปิดบริษัทมาแล้วกว่า 3 บริษัท พบว่าปัญหาที่เจอแต่ละที่ค่อนข้างมีความคล้ายกัน จึงได้รวบรวม 10 ปัญหาที่เจอซ้ำ ๆ พร้อมวิธีการแก้ไขที่นำไปปรับใช้ได้ทันที
- Awareness ความตระหนักรู้ ผู้บริหารมักจะอยู่แต่กับการดูข้อมูล คือวางแผนทุกอย่างจากการดูข้อมูล แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือที่ตัวแบรนด์หรือสินค้า
- Communication คนระดับหัวหน้าไม่ค่อยสื่อสารกันสักเท่าไหร่ เวลาคุยกันจะเกิดความตึงเครียด และบางครั้งก็เกิดความไม่ไว้ใจกัน (เพราะไม่สนิทใจ) เวลาทำงานจึงมีช่องว่างบางอย่างซึ่งผู้นำอาจคิดว่าไม่มีใครรู้แต่จริง ๆ แล้วคนทั้งบริษัทรับรู้อารมณ์นี้ได้
- Development สนใจแต่เรื่องรายได้แต่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการพัฒนาทีม อาจเป็นเพราะไม่มีนโยบายสนับสนุน หรือบางครั้งอาจเป็นที่ตัวพนักงานเองที่ชอบทำงานเดิม ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะมองไม่เห็นเส้นทางเติบโตได้เลย อย่าคิดแค่ว่าทำงานตามหน้าที่ไปวัน ๆ เพราะเส้นทางสู่ความสำเร็จนั้นไม่มีแผนสำเร็จรูป
- Interpersonal ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล วัฒนธรรมของบริษัทส่วนใหญ่มักจะถูกปล่อยให้มันเป็นไปตามพฤติกรรมของคน แต่มีส่วนน้อยที่จะใส่ใจการสร้างระบบความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็น หรืออย่างน้อยก็พยายามแก้ไขหรือลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบริษัท
- Network ขาดการทำงานในรูปแบบเครือข่าย แผนกต่างทำงานตามหน้าที่ของตน (ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ดี) แต่มักจะไม่ทราบว่าแผนกอื่นของบริษัทกำลังทำอะไรอยู่ บางครั้งมันก็เหมือนโฟกัสไปคนละทาง เพราะไม่รู้เป้าหมายของกันและกัน
- Culture ปัญหาวัฒนธรรมองค์กร หนึ่งในปัญหาที่หลายบริษัทมักเจอคือวัฒนธรรมขององค์กรไม่ค่อยน่าทำงาน อาจเป็นความซับซ้อนของขั้นตอนการทำงาน ทัศนคติของเพื่อนร่วมงาน ทั้งหมดกลายเป็นหล่อหลอมให้สภาพแวดล้อมโดยรวมไม่น่าทำงาน ขวัญกำลังใจของพนักงานก็อยู่ในระดับต่ำ
- Trust ความไว้วางใจ ความยากของหลายบริษัทคือผู้นำมักไม่ไว้ใจให้ลูกน้องรับผิดชอบงาน การควบคุมทั้งหมดด้วยตัวคนเดียวหรือแผนกเดียวไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเลย ข้อเสียคืออำนาจจะกระจุกตัว ถ้าหากหัวหน้าไม่มาทำงาน หรือแผนกนั้นเกิดปัญหาภายใน อย่างนี้ก็ทำให้งานสะดุดได้
- Role ผู้นำบางคนเป็นผู้นำแค่ตามหน้าที่ แต่ไม่ได้มีภาวะความเป็นผู้นำอย่างที่ควรจะเป็น มักจะชอบออกคำสั่ง เวลาที่ลูกน้องมีปัญหามักจะหาคนผิด แต่น้อยนักที่จะลงมาช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหา
- One-way conversation การสื่อสารทางเดียว เป็นการสื่อสารทางเดียวจากบนลงล่าง จากหัวหน้าสู่ลูกน้อง โดยที่ลูกน้องไม่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือแม้แต่แสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับลูกค้าที่สุดย่อมรู้ปัญหามากกว่าใคร ถ้าหากบริษัทมีวัฒนธรรมในการสื่อสารแบบสองทางจะร่วมกันหาทางออกได้ดีกว่า
- Accountability ความรับผิดชอบ บริษัทไม่จัดรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่ใด และที่แย่กว่านั้นคือเมื่อเกิดปัญหาผู้นำจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และยังจัดการปัญหาได้ยากเพราะขอบเขตความรับผิดชอบไม่ชัดเจน
3 วิธีการแก้ไขที่นำไปปรับใช้ง่ายและได้ผล
ในฐานะที่เป็น “ผู้นำ” มีหน้าที่ ที่จะต้องคิดต่อว่าจะหาวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้างเพื่อให้สถานการณ์และผู้คนทำงานได้ดีขึ้น อย่าง 3 วิธีการต่อไปนี้ก็เป็นวิธีการที่ง่ายและนำไปปรับใช้ได้ทันที
1. ปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ที่ทำให้ทุกคนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
จากปัญหาที่กล่าวมานี้สังเกตได้ว่ามีเรื่องที่เกี่ยวกับ “การสื่อสารและความสัมพันธ์” อยู่หลายข้อพอสมควร จึงอยากจะเน้นที่การปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ไปเลยจะดีกว่า วิธีการนี้อาจจะดูเหมือนเป็นไปได้ยาก แต่มันก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องเสียงบประมาณอะไรเลย เพียงแต่ว่าต้องเริ่มที่ผู้บริหาร หรือหัวหน้า
กล่าวคือ ถ้ามอง “บุคคล…ที่มีหน้าที่แค่ทำงานร่วมกัน” ย่อมทำให้เรามองเขาเหล่านั้นด้วยความห่างเหิน แต่ถ้าหากมองทุกคนว่า “เป็นเพื่อน เป็นพี่” เป็นคนที่ช่วยให้งานเราดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค เราจะมองเขาด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนไป อาจจะพบปะสังสรรค์กันบ่อยขึ้น หรือพูดคุยกันเรื่องอื่นบ้างที่นอกเหนือจากเรื่องงาน สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ทำให้ความสัมพันธ์ภายในบริษัทดีขึ้น
2. พัฒนาระบบให้ทำงานง่ายขึ้น
อย่างเช่น Process การทำงานแบบเก่าที่มีความล่าช้า, แต่ละแผนกทำงานตามหน้าที่ของตนซึ่งดูเหมือนจะดีแล้ว แต่ปัญหาคือแต่ละฝ่ายโฟกัสคนละทางไม่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ปัญหาเหล่านี้ หัวหน้าหรือเจ้าของธุรกิจอาจจะต้องมองหาวิธีการที่จะทำให้ทั้งบริษัทมีความเป็นหนึ่งเดียว
ไม่จำเป็นต้องรื้อโครงสร้างแล้วสร้างระบบใหม่เพราะดูแล้วก็คงยากเกินไป แต่เริ่มจากง่าย ๆ อย่างเช่นหาโอกาสให้พนักงานทำงานร่วมกัน หรือให้ลองเปลี่ยนหน้าที่ไปทำงานในแผนกอื่นดูบ้าง จะทำให้พนักงานเกิดทักษะใหม่ ๆ ทำให้เข้าใจแผนกอื่นมากขึ้นไม่มองแค่แผนกตัวเอง แถมยังทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย
3. แม้หัวหน้าจะอยู่ในระดับสูงแล้วก็อย่ามองข้ามเรื่องการฝึกอบรม
การฝึกอบรม การมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้หัวหน้าหรือผู้ประกอบการคอยหาวิธีการใหม่ๆมาแก้ไขปัญหา รวมถึงพัฒนาบริษัทได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น การมีที่ปรึกษาเป็นสิ่งที่บริษัทควรพิจารณาลงทุน อาจจะจ้างมาทำงานโดยตรงหรือส่งหัวหน้าระดับสูงคอยไปอบรมก็ได้เช่นกัน