อาชีพที่ทำอยู่ใช่ทางของคุณหรือไม่? ค้นหาแนวทางอาชีพจาก “แนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา”


ช่วงอายุ 20-30 ปี เป็นช่วงที่คนเราใช้ในการค้นหาตัวเอง แต่ถ้ายังรู้สึกว่างานที่ทำยังไม่ใช่ตัวตนของเราสักที

ลองใช้ “ทฤษฎีพหุปัญญา” ในการค้นหาดูว่าเราเก่งด้านไหน

ทฤษฎีพหุปัญญา คิดค้นโดย Dr. Howard Gardner

เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่าสติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้าน มีความสำคัญไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหน ฉะนั้นถ้าเราทำงานที่ไม่ชอบ อาจะเป็นเพราะไม่ใช่ทางที่เราถนัดก็ได้


1. ปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

– มีความสามารถในการเข้าใจคนอื่น
– รับรู้อารมณ์ ความรู้สึกเก่ง
– ชอบมีเพื่อน ชอบพบปะสังสรรค์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
– ทำให้รู้ว่าเวลาไหนควรต้องพูดเสริมกำลังใจ เวลาไหนควรพูดปลอบใจ
– จุดเด่นคือ เข้ากับคนอื่นได้ดีเพราะเหมือนอยู่กับใครก็รู้ใจคนรอบข้าง คนแบบนี้เป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตาม
– อาชีพที่เหมาะสมได้แก่ พนักงานขาย นักการเมือง ผู้จัดการ ครู นักแสดง นักสังคมสงเคราะห์


2. ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

– คนกลุ่มนี้ตรงข้ามกับกลุ่มแรก เพราะชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ
– แต่การอยู่กับตัวเองนั้นจะคอยสังเกตตัวเองอยู่ตลอด
– สังเกตแล้วพัฒนาความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ
– ทำให้รู้ตัวว่าชอบอะไร อยากได้อะไร
– จุดเด่นคือ จะเป็นคนที่แสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ
– อาชีพที่เหมาะคือนักปรัชญา นักจิตวิทยา นักศาสนศาสตร์ นักเขียน เจ้าของกิจการ และนักวิทยาศาสตร์


3. ปัญญาค้านตรรกะ-คณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)

– คนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่เก่งคณิตศาสตร์
– แต่เก่งในการคิดแบบมีเหตุผลที่เชื่อถือได้
– คาดการณ์เก่งเพราะอาศัยวิเคราะห์จากตัวเลข
– มีทักษะในการใช้เหตุผล ชอบคิดเชิงเหตุผล
– ทำให้สามารถคิดเชิงคำนวณที่ซับซ้อน หรือทำอะไรเป็นระบบระเบียบตามลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนได้ดี
– อาชีพที่ทำได้ดี นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร

4. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์​ (Visual-Spatial Intelligence)

– มีความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี
– คือเก่งในการมองอะไรที่เป็นมิติ
– ทั้งในด้านของตำแหน่ง ระยะทาง รูปร่าง รูปทรง
– คนประเภทนี้เอาดีได้ทั้งทางสายวิทย์และสายศิลป์ เช่นคนที่ชอบออกแบบก็เป็น Designer ได้ หรือชอบอ่านแผนที่ แผนภูมิก็เป็นวิศวกรหรือสถาปนิกได้
– เหมาะกับอาชีพวิศวกร สถาปนิก จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ เป็นต้น

5. ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกาย (Bodily-Kinesthetic Intelligence)

– เป็นคนที่มีความคล่องแคล่ว ชอบการเคลื่อนไหว
– ไม่อยู่นิ่ง เป็นคนกระตือรือร้น
– อาชีพที่เห็นเด่นชัดคือ นักกีฬา นักแสดง นักเต้น เพราะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
– แต่ที่น่าสนใจคือยังเหมาะกับ อาชีพศัลยแพทย์ แพทย์ทั่วไปด้วย เพราะชอบคิดหรือใช้ความคิดขณะเคลื่อนไหว
­- อาชีพที่เหมาะสมคือ นักกีฬา นักเต้น นักแสดง ศัลยแพทย์ แพทย์ทั่วไป พนักงานก่อสร้าง และทหาร

6. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

– คือคนที่มีความสามารถในการใช้ภาษาได้ดี
– จุดเด่นคือ สามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ
– จำรายละเอียดเก่ง ทำให้เล่าเรื่องได้เป็นเรื่องเป็นราว
– อาชีพที่โดดเด่น นอกจากจะเป็นนักพูด พิธีกร แล้วยังรวมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง

7. ปัญญาด้านเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist Intelligence)

– คนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ รักธรรมชาติ แต่เป็นคนที่
– “สนใจ” สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว
– ทำให้มีความสามารถในการ “เข้าใจ” ธรรมชาติได้ดี
– ถ้าเห็นดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป เค้าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วต้องดูแลพืชและสัตว์ยังไง
– อาชีพที่เหมาะสมคือ นักวิทยาศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา นักอนุรักษ์ เกษตรกร

8. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

– แยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้ดี
– รู้จักท่วงทำนอง เรียนรู้จังหวะดนตรีได้ดี
– ชอบการเคาะโต๊ะ หรือขยับเท้าตามจังหวะเมื่อฟังเพลง
– ชอบร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี
– ผู้ที่มีปัญญาทางดนตรีและจังหวะสูง จะแสดงความสามารถในการสัมผัสทางเสียง จังหวะได้ดี
– อาชีพที่เหมาะสม คือ นักดนตรี นักร้อง วาทยกร ดีเจ นักสุนทรพจน์ นักแต่งเพลง


คนเรามีความถนัดไม่เหมือนกัน เลยทำอะไรได้ดีไม่เท่ากัน ถ้าใครที่ทำงานแล้วรู้สึกไม่ใช่ตัวเองอาจจะเป็นเพราะทำสิ่งที่ไม่ถนัดก็ได้

แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ให้เชื่อทฤษฎีพหุปัญญาเพียงอย่างเดียว ต้องดูควบคู่กับทักษะ ความสามารถ ความถนัด และโอกาส เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด จะได้เป็นแนวทางให้เจองานที่ใช่ที่สุด

ขอบคุณที่มา : พหุปัญญา 8 ประการของ Dr. Howard Gardner


#ทฤษฎีพหุปัญญา
#ไปให้ถึง100ล้าน