เป็น “เป็ด” ที่เก่งกาจ ต้องทำงานได้แบบมัลติฟังก์ชั่น คิดแบบผสมทั้ง “รู้ลึก” และ “รู้กว้าง”

“รู้ลึก” กับ “รู้กว้าง” แบบไหนดีกว่ากัน ?
เป็นประเด็นยอดฮิตที่มีคนให้ความสำคัญกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่บุคคลทั่วไป ไปสู่ระดับองค์กร จนนำไปสู่การวิจัยกันเลยทีเดียว

อย่างในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียสำรวจผู้ที่เรียนจบ MBA จำนวน400 คน พบว่าคนที่สไตล์ Generalist (หรือประเภทรู้กว้าง) จะได้รับการเสนองานมากกว่าคนสไตล์ Specialist(รู้ลึก) เสียอีก

มันก็น่าแปลกใจเหมือนกันนะ เพราะอย่างคนไทยเราก็จะบอกว่าคนรู้กว้าง “เหมือนเป็ด” ที่รู้ไปซะทุกเรื่อง แต่ก็ไม่เก่งสักเรื่อง พอพูดแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกว่าคนรู้กว้างอาจจะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

แต่จากงานวิจัยก็คงจะทำให้เห็นแล้วว่า “ความเป็นเป็ด” มันก็มีข้อดีของเขาบ้างแหละ แต่คีย์เวิร์ดอยู่ที่ว่าจะรู้จักใช้ประโยชน์จากความเป็นเป็ดนำพาให้ตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้มากแค่ไหน

คนประเภทรู้กว้าง (Generalist) คือ

มีความรู้รอบตัว สนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวโดยอาจจะไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนั้น ส่วนมากจะเกิดจากความชอบ ความสนใจ จากนั้นศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามข่าวสารเพราะมีความสนใจส่วนตัว

ส่วนที่รู้ลึก (Specialist) คือ

ส่วนใหญ่จะเกิดจากทักษะหรือประสบการณ์(expert) เช่น เรียนมาโดยตรง ทำงานมาโดยตรง อาจไม่ใช่งานวิชาชีพก็ได้ แต่ว่าคลุกคลีในวงการมานาน เจอปัญหาและแก้ไขมามากจนทำให้รู้ทะลุปรุโปร่ง เป็นต้น


คำถามคือ แล้วเราต้องเป็นคนประเภทรู้กว้างหรือรู้ลึกดี

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ตอบได้ยาก เพราะโลกของความเป็นจริง Multi-Skillsก็ยังเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ และคนที่เก่งเฉพาะด้านก็ยังมีโอกาสได้เงินเดือนสูงกว่าเพราะหาคนมาแทนที่ยาก

ยกตัวอย่างเช่น Wongnai

ตอนนี้มีพนักงาน ประมาณ 220 คน แบ่งเป็น specialist เช่น โปรแกรมเมอร์ บัญชี การตลาด ประมาณ 20% อีก 80% เป็น generalistซึ่งบริษัทฯ มีการสลับหน้าที่กัน เช่น คนที่ทำด้านคอนเทนต์สามารถทำด้าน AE ได้ เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทำสิ่งที่ชอบจริงๆ

คำตอบทั่วไปอาจจะบอกว่า “ก็แล้วแต่ที่เรามีความสุข”

แต่ถ้าจะดีกว่านั้นก็คงต้องดูสถานการณ์ ดูอาชีพที่เราสนใจ และต้องดูสไตล์ความเป็นตัวเราด้วย การรู้กว้างพอประมาณนึงกำลังดี แต่รู้ลึกถ้าได้สักเรื่องใดเรื่องนึง จะยิ่งดีกว่า

อาจจะใช้ “ช่วงวัย” เป็นแนวทางก็ง่ายดี ถ้าเพิ่งจบใหม่ ๆ ก็ไม่แปลกที่จะรู้ให้กว้างเอาไว้ก่อน เพื่อค้นหาตัวเองไปกับการหา Passion ของตัวเอง ถ้าเจอสิ่งที่ชอบแล้วค่อยพุ่งความสนใจให้เต็มที่

หรืออาจจะใช้ “หน้าที่หลัก” ที่รับผิดชอบในตอนนี้ ว่าควรให้น้ำหนักกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ แต่ที่สำคัญต้องเป็นคน พร้อมที่จะฝึกฝน (trainable) เพราะยังไงบริษัทก็ชอบคนที่สามารถฝึกฝนได้

หรือไม่ก็อาจจะใช้ “ทฤษฏี T-shape Model” ซึ่งเป็นทฤษฏีที่ ได้รู้ว่าเรื่องไหนควรรู้กว้าง เรื่องไหนควรรู้ลึก T-shape นี้มีประโยชน์มากในการวางแผนตอนเปลี่ยนสายงาน จะได้รู้ว่าเรากำลังอยู่ที่จุดไหน และต้องใช้ทักษะอะไรบ้างเพื่อให้ไปยังตำแหน่งที่เราต้องการ