สสส. ผนึกพลัง มศว และสระแก้ว พัฒนาโมเดล “อ่าน อาน อ๊าน” ลด Learning Loss

สสส. ,  มศว ,  สพป. สระแก้วเขต 2 และ อบต.ผ่านศึก ร่วมลงนาม MOU โครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข (อ่าน อาน อ๊าน) ลดภาวะ Learning Loss ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ

เด็กปฐมวัย คือ เด็กช่วงอายุตั้งแต่ 0 – 6 ปี มีจำนวนประมาณ 4.2 ล้านคน เป็นช่วงวัยที่ระบบประสาทและสมองเจริญเติบโตในอัตราสูงสุดกว่า 80 % ของชีวิตมนุษย์ เป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานการเรียนรู้และพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ อย่างมีคุณภาพและเต็มศักยภาพ

มีรายงานจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวทางการเรียนของเด็กส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่เป็นผลจากความอ่อนแอทางภาษาและการอ่าน เห็นได้ทั้ง จากรายงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ชี้ว่า มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ร้อยละ 5 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยสิ้นเชิง และมากกว่าร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง นอกจากนี้จากผลการจัดอันดับทางการศึกษานานาชาติ เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) หรือการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติพื้นฐาน (O-Net) ล้วนแต่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่งของเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะในวิชาภาษาไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า “ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โลกการศึกษาต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายโรงเรียนปิดและเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ กลายเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ของผู้เรียนต่ำกว่าที่ควร เด็กหลุดออกนอกระบบ และอีกนานัปการ จากรายงานเรื่อง The state of the global education crisis: a path to recovery ของ UNESCO ร่วมกับ UNICEF และ World Bank ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาร้ายแรงที่แฝงมากับการปิดโรงเรียน และอาจกลายเป็นภารกิจใหญ่ที่รัฐและผู้กำหนดนโยบายต้องเอาใจใส่ฟื้นฟูแก้ไขในระยะยาว นั่นคือ ภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (learning losses) ของเด็กทั่วโลก สสส. โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จึงเร่งศึกษาโมเดลที่เหมาะสมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤติในครั้งนี้”

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวเสริมว่า  “แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2  และองค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึก จังหวัดสระแก้ว  จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU)  เพื่อดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข หรือ “อ่าน อาน อ๊าน” โดยเลือกพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาโมเดลต้นแบบของสถานศึกษาที่ใช้การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขในกลุ่มเด็กปฐมวัย และเชื่อมรอยต่อของวัยเรียนประถมศึกษา เพื่อนำไปสู่การจัดการความรู้ เพื่อขยายผลในสถานศึกษาอื่นๆ เราเชื่อว่า แม้จะเป็นโรงเรียนที่ห่างไกล แต่หากครูได้พัฒนากระบวนการให้เด็กเป็นเจ้าของความรู้ ครูมีความผู้เข้าใจสื่อและออกแบบกิจกรรมการอ่านสอดคล้องวิถีและบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ได้โดยใช้ฐานที่แข็งแรงของ “การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” ก็สามารถทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดดได้”

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งทิวา แย้มรุ่ง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “คณะศึกษาศาสตร์ มศว มีความมุ่งหวังว่า การดำเนินงานที่เสริมศักยภาพของครูและเด็กในโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข จะเป็นโมเดลต้นแบบ ทำให้ระบบการศึกษา และสังคม เห็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ แต่มีความหมายทั้งกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของครู ชุมชน และครอบครัวของเด็ก อันจะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาการเรียนรู้ในวงกว้างต่อไป”

ทางด้าน นายชาญ สมสุขสันต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึก กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข หรือ “อ่าน อาน อ๊าน ได้พัฒนาศักยภาพครูแกนนำ ระดับก่อนอนุบาลจนถึงประถมศึกษา จำนวน 48 คน จาก 9 สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนนิคมสงเคราะห์ 2 โรงเรียนอนุบาลตาพระยา โรงเรียนอนุบาลธรรมศิริวิทยาคาร โรงเรียนบีกริม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านพัฒนานิคม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองปรือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านไผ่ล้อม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนสาวเอ้ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองสังข์ มีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ รวม 930 คน และมีหนังสือเด็กที่มีคุณภาพหมุนเวียนในโครงการกว่า 3,360 เล่ม”

ผู้สนใจกิจกรรม สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข” และเพจ “อ่าน อาน อ๊าน”