“ถอดความคิดชุดเก่า” สิ่งใหม่ที่เจ้าของธุรกิจ ต้องรีบทำ

ทำธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่ “เงินทุน” แต่ต้องมี “ความรู้” เชื่อมสู่ “ความคิด” ที่จะทำให้โตได้

ในโลกธุรกิจบริษัทจะมี “การเปลี่ยนแปลง” เกิดขึ้นได้ 2 แบบ แบบแรกบริษัทยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอย่างที่สอง บริษัทถูกบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าอย่างแรกนั้นดีกว่ามาก เพราะมีโอกาสเตรียมตัวปรับตัวได้พร้อมกว่า แต่แบบที่สองนั้นเหมือนถูกบีบบังคับ ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ ยังไงก็ต้องเปลี่ยนแปลงทันที การเปลี่ยนแปลงนั้นในหลายๆ บริษัทจะบอกว่าง่ายก็ง่ายจริง แต่จะบอกว่ายากก็ดูยากจริงๆ เพราะแหล่งกำเนิดมาจาก “ความคิด”

ความคิดนั้นมีกรอบ ยิ่งทำธุรกิจมานาน ประสบการณ์เดิมๆ เยอะ ชินกับสนามเดิมๆ มากเท่าไร กรอบนั้นจะยิ่งหนาแน่นขึ้น ทำให้การก้าวข้ามเป็นเรื่องยาก จนกลายมาเป็นการยึดติดกับความคิดเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ และการเปลี่ยนแปลงในแต่ละทีต้องถูกบังคับซะก่อนถึงจะเปลี่ยนได้ ในยุคนี้เป็นยุคที่ทุกอย่างเร็วมาก ยิ่งในโลกธุรกิจนั้นมีความใหม่ที่น่าประหลาดใจเกิดขึ้นบ่อยๆ Grab ไม่มีรถซักคัน แต่ตอนนี้เป็นบริษัทขนส่งทั้งคนและพัสดุที่ใหญ่ระดับโลก AirBnb ไม่มีบ้านของตัวเองซักหลัง แต่ตอนนี้เป็นบริษัท ให้เช่าบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโลก

บริการใหม่ๆ หรือการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่นี้ จึงเป็นการแข่งกันที่ไม่ใช่เพียงแค่มีเงิน แต่เป็นการแข่งกันด้วยความคิด ใครเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ถอดชุดความคิดเก่าออกได้ไว ขยายกรอบความคิดออกไปได้กว้างขนาดไหน ก็จะเห็นไอเดียและสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ธุรกิจโตและสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น วิธีถอดความคิดชุดเก่า มีดังนี้

ลองทำในสิ่งที่ไม่ชิน ท้าทายกับเรื่องเดิมๆ ที่ทุกคนทำตามๆ กัน

ความคิดเดิมๆ กรอบความคิดเดิมๆ ทำให้คุณอยู่ในยอดขายแบบเดิมๆ หรือไม่ก็ไม่แตกต่างจากคู่แข่งมากเท่าไร วิธีถอดความคิดเก่าๆ เดิมๆ คือ “การทำในสิ่งที่ไม่ชิน” ทำในสิ่งที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อน ท้าทายในสิ่งที่ทำแล้วซ้ำๆ ซากๆ อีลอน มัสก์ ท้าทายความคิดเดิมๆ “ทำไมรถยนต์ต้องมีคนขับ” จึงได้เริ่มพัฒนารถไร้คนขับ ในช่วงแรกที่รถไร้คนขับรุ่นแรกออกมา คนส่วนใหญ่ยังคงไม่ชิน กล้าๆ กลัวๆ ว่าระบบขับจะสู้กับคนขับได้ยังไง แต่เมื่อได้ทดลองของจริงแล้ว ทำให้พบว่า ระบบมีความแม่นยำกว่าคนขับบางคนซะอีก หากอีลอน มัสก์ ไม่สร้างความท้าทาย ลองทำในสิ่งที่ไม่ชิน วงการรถยนต์ก็คงไม่ก้าวหน้า

ในตอนนี้มีหลายๆ เจ้าเริ่มทำตาม การทำในสิ่งที่ไม่ชิน อาจหมายถึงสิ่งเล็กๆ ก็ได้ เช่น บริษัทขายเครื่องจักรราคาเริ่มต้นที่หลักแสน จากที่ต้องส่งพนักงานฝ่ายขายไปหาลูกค้า ก็ลองเอาข้อมูลสินค้า ข้อมูลการขายทั้งหมด มาจัดทำในรูปแบบของเว็บไซต์ เพื่อเปิดโอกาสการขายให้ลูกค้าได้อ่านข้อมูลก่อน และเมื่อสนใจก็ค่อยติดต่อให้พนักงานขายไปหาได้ เป็นต้น การทำสิ่งที่ไม่ชิน ท้าทายในเรื่องเดิมๆ ที่ไม่เคยทำ จะช่วยให้เห็นมุมมองที่ใหญ่ขึ้น ขยายกรอบความคิดออกไป

ทำทุกวันว่าเหมือนบริษัทจะเจ๊ง แล้วลองดูว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่เราจะเลือกทำ

ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไรที่เข้าตาจน ความคิดและการลงมือทำ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากบริษัทมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนตรงไหนดี ให้ลองทำเสมือนว่า บริษัทจะเจ๊ง เราเหลือทรัพยากรแค่จำกัด แล้วลองดูว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้บริษัทรอด สิ่งไหนที่ควรทำก่อนจะออกมาทันที ไอเดียอันนี้ค้างมาตั้งนานแล้วไม่ได้ทำซักที แต่พอคิดว่าบริษัทจะเจ๊ง แรงกดดันจะช่วยเลือกให้ว่า ต้องลงมือทำอะไรทันที

บริษัทชิปปิ้งจากจีนเจ้านึง จากเดิมที่มีลูกค้าเป็นเพียงพ่อค้าแม่ค้าตลาดสำเพ็ง และกลุ่มลูกค้าเริ่มตัน ขยายการเติบโตของยอดขายไม่ได้เพราะจำนวนพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก จึงได้ลองคิดว่าถ้าวันนี้บริษัทจะเจ๊งมีเงินทุนก้อนสุดท้าย จะทำอะไรก่อน สิ่งที่คิดได้คือ การเริ่มมาร์เก็ตเพลสสั่งซื้อสินค้าจากจีนแบบออนไลน์ทันที วิธีการหาลูกค้ามากดสั่งซื้อที่หน้าเว็บ ใช้ทุนต่ำกว่า และเห็นผลทันที เมื่อรู้ได้แบบนี้ก็เลยเริ่มทำจนเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ขยายการเติบโตของยอดได้ได้ในที่สุด

อย่าเป็นวันแมนโชว์ แต่เป็นโอเพ่นแมน เปิดรับและฟังทุกมุมมอง

สิ่งที่ได้เจอการปรับตัวไม่ทันของ “เจ้าของธุรกิจในยุคเก่าๆ” มักเชื่อตัวเองมากเกินไป จนทำให้บริษัทถอยหลัง สู้คู่แข่งหรือการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจไม่ได้ คิดว่าตัวเองนำพาบริษัทมาได้ถึงขนาดนี้เพราะ การนำของตัวเอง จนเกิดเป็นการยึดติดในความคิดเดิมๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะต้องมานั่งจัดการธุรกิจตัวเองทุกวัน ในทางกลับกัน การทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพโดยคนรุ่นใหม่ เริ่มที่จะลดความห่างระหว่างตำแหน่ง โดยเปิดให้พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกความเห็นให้เจ้าของธุรกิจฟังได้ เพราะทุกคนที่อยู่ในบริษัทในหน้าที่ต่างๆ จะมีมุมมองที่หลากหลาย ช่วยขัดเกลาให้ไอเดียที่บริษัทกำลังทำ หรือเป็นโอกาสที่น่าทำชัดเจนยิ่งขึ้น การเปิดรับฟังจะทำให้ได้รับการเรียนรู้ทุกวัน และช่วยให้ตัดสินใจด้วยข้อมูลที่อัพเดตในปัจจุบันได้แบบทันที

เรียนรู้อย่ายึดตำรา เพราะยุคนี้คือเรียนรู้คู่กับ “ประสบการณ์” เท่านั้นที่จะทำให้รอด

ความรู้มีวันหมดอายุ ตำราเรียนในยุคนี้คือแค่ขั้นพื้นฐาน หากนำมาทำจริงต้องศึกษาจากประสบการณ์ของคนที่เคยทำในวงการนั้นๆ หรือเจ้าใหญ่ที่ทำสำเร็จได้แล้ว ดูว่าเขาเอาความรู้ในตำราไปทำอะไรบ้าง

เจฟฟรีย์ โรเจอร์ส ผู้อำนวยการแฟคตอรี ดิเวลล็อปเมนท์ จาก Singularity University กล่าวว่า ในวันนี้จะตัดสินอนาคตจากประสบการณ์หรือตำราที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบันทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วชนิดก้าวกระโดด สิ่งสำคัญจึงต้องปรับตัวให้ทัน

ทุกความคิด ทุกการปรับตัว สร้างสิ่งใหม่ ไม่จำเป็นต้องเดินคนเดียว

ยุคนี้เป็นยุคที่ขยายกรอบความคิดได้ง่ายที่สุด เพราะทั้งความรู้และการสนับสนุนมีหลากหลายให้เลือก Krungsri SME Business Empowerment เป็นหนึ่งในบริการที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และนักธุรกิจไทยให้เติบโตก้าวไกล ผ่านกิจกรรมสัมมนาความรู้หรือหลักสูตรพัฒนาความรู้ บริการจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รายงานความรู้ที่เป็นประโยชน์ และบทความธุรกิจเชิงลึก เพื่อทุกการปรับตัว ทุกสิ่งใหม่ของความคิดจะนำไปสู่การลงมือทำได้จริง เริ่มต้นทุกความสำเร็จได้ที่ http://bit.ly/2LxRqqQ