ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังทรุดหนัก ทั้งภาครัฐต้องหาแนวทางลดผลกระทบให้กับคนต่างๆ ภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง จะนำพาธุรกิจไทยให้ผ่านขวากหนามไปได้อย่างไรให้เจ็บน้อยที่สุด
แม้ว่าสถานการณ์โควิดในไทยจะคลี่คลาย หลายๆ อย่างกลับมาเป็นปกติ โดยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมานานกว่า 45 วัน แต่จากกว่า “ล็อกดาวน์” ประเทศมานานกว่า 3 เดือน สร้างความบอบช้ำต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก และยังคงเฝ้ารอการเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศ
แต่สถานการณ์ภาคธุรกิจน้อยใหญ่เริ่มเปิดหน้าร้านขายของ โดยมีมาตรการเข้มงวด และยังคงเว้นระยะห่างทางสังคม
ในระยะแรกของการคลายล็อกดาวน์จะเห็นได้ว่าการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคึกคักมาก
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ทรุดหนัก ในขณะที่ “ครึ่งปีหลัง” จากนี้ ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจ มนุษย์เงินเดือน แรงงาน ยังแทบมองไม่เห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทำได้อย่างดีก็แค่ “ประคองตัว” ไม่ให้ทรุดกว่าที่เป็นอยู่ หรือหากจะดีขึ้นก็ดีขึ้นไม่มาก เป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้หลักจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากภาคส่งออก และการท่องเที่ยว รวมกันกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่โควิดพ่นพิษไปทั่วโลก เมื่อเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบหนัก เศรษฐกิจไทยจึงหนีไม่พ้นผลกระทบหนักเช่นกัน
ดังนั้น จึงน่ากังวลว่า สถานการณ์ “กำลังซื้อ” หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ในเมื่อเงินในกระเป๋านอกจากจะไม่เพิ่มขึ้น ยังจะลดลงทุกวัน
ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากกำลังซื้อในประเทศจึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย
เราเห็นว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ภาครัฐจะต้องหาแนวทางลดผลกระทบให้กับผู้คน ภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ ทั้งนโยบายการเงิน และการคลัง พยุงภาคธุรกิจไทยผ่านขวากหนามให้บาดเจ็บน้อยที่สุด นั่นเพราะหากภาคธุรกิจที่แท้จริง (เรียลเซคเตอร์) เกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายตลอดซัพพลายเชน มีอันเป็นไป ย่อมเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ระยะเวลา 2-3 ปีที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด น่าจะพูดกันนานกว่านั้น
อ้างอิง : https://bit.ly/3kFG3gr