เมื่อนำวิธีการเล่นเกมมาเปรียบเทียบกับวิธีการเพิ่มความฉลาด และศักยภาพในการแก้ปัญหาต่าง ๆ พบว่ามีรูปแบบที่คล้ายกันไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งที่ท้าทาย คิดนอกกรอบ รวมถึงทักษะการทำงานหลาย ๆ อย่าง ในเวลาเดียวกันก็ถูกพัฒนามาจากการเล่นเกม หากเล่นเกมอย่างเหมาะสม และนำมาประยุกต์กับการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งในการทำงานก็ตาม การเล่นเกมนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเด็กโดยเฉพาะในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมาก ผู้ปกครองบางคนอาจมีความกังวลว่าการเล่นเกมจะมีผลเสียกับเด็กหรือเปล่า ซึ่งถ้าเรามองอีกด้านของการเล่นเกม และได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว พบว่าเกมนั้นมีข้อดีหลายอย่าง และที่สำคัญเกมทำให้เด็กฉลาดมากขึ้นด้วย ‘เก๊บ ซิเชอร์เมนน์’ (Gabe Zichermann) นักธุรกิจ และนักเขียนในวงการเกมคือตัวอย่างของผู้ที่เล่นเกมจนได้ดี เขารักการเล่นเกมและสามารถทำอาชีพจากเกมได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับนักพัฒนาเกม หรือเป็นนักเขียนเกี่ยวกับเรื่อง Gamification (คือการเอาระบบเกมไปประยุกต์ใช้ในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน)
ในบางครั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยาก็ กล่าวว่า เกมนั้นไม่ได้ช่วยให้เด็กจดจ่อกับอะไรได้นาน ๆ หรือมีข้อสังเกตว่าการที่เด็กเล่นเกมเยอะนั้นเป็น เพราะว่าโลกแห่งความจริงนั้น ‘ไม่น่าสนใจ’ สำหรับพวกเขาแล้ว แต่เก๊บกับเห็นต่างไป เขาคิดว่า จริง ๆ แล้ว การที่เด็กสมัยนี้ไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง (เช่น เล่นเกมไม่สนใจโลกแห่งความจริงมากนัก) หรือว่าอันที่จริงในโลกแห่งความจริงมันล้าหลังตามโลกในเกมไม่ทันกันแน่
เป็นที่น่าสังเกตว่าสมัยก่อนอาจเล่นเกมผ่านจอยสติ๊ก แต่เด็กในยุคนี้เล่นเกมออนไลน์ โดยที่สามารถโต้ตอบกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามได้ และแน่นอนว่าต้องมาคอยจัดการกับผู้ปกครองที่ชอบเข้ามาขัดจังหวะ (ไม่ว่าจะเป็นการเรียกให้ไปทำการบ้านหรือล้างจาน ก็ตาม) นั่นหมายความเด็กสมัยนี้มี Multitasking Skill ที่ดีมากเป็นพิเศษนั่นเอง (Multitasking Skill เป็นทักษะที่สามารถทำอะไรได้ มากกว่า 1 ทักษะในเวลาเดียวกัน) นอกจากนี้ยังมีพบว่ามี 5 วิธีหลักที่สามารถ ทำให้ ‘Fluid Intelligence’ เพิ่มขึ้น (การบรรยายของ Andrea Kuszewski ที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด)
Fluid Intelligence คือความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา ที่ได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม เป็นความฉลาดในการแก้ไขปัญหา การหาเหตุผล ซึ่ง 5 วิธีหลักนั้นได้แก่
(1) การเสาะหาสิ่งใหม่ ๆ
(2) การทำสิ่งที่ท้าทาย
(3) การคิดนอกกรอบ
(4) การทำสิ่งยาก ๆ
(5) การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับผู้อื่น
และเมื่อลองเอามาเทียบดูแล้ว 5 วิธีหลักนี่แหละ คือกระบวนการที่มีอยู่ในเกมที่ประสบความสำเร็จ
คุณลองสังเกตดูสิว่าการเล่นเกม ไม่ว่าจะ ROV PUBG หรือ Free Fire ต้องมีการวางแผนว่าจะเล่นยังไง วางกลยุทธ์ รวมไปถึงการเล่นแบบ ‘ทีมเวิร์ค’ (ไม่ให้เพื่อนแบกทีมคนเดียว และเรามาโดนด่าทีหลัง) แต่อย่างไรก็ดี การเล่นเกมก็มีด้านที่ต้องพิจารณาต่อไปเหมือนกัน ในเรื่องของความรุนแรง แต่ก็มีการศึกษาแล้วว่าเกมไม่ได้ทำให้เด็ก มีพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งพฤติกรรมนั้นขึ้นอยู่กับตัวเด็กมากกว่า ถ้าเด็กมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมรุนแรงอยู่แล้ว เกมอาจเป็นแค่ปัจจัยเล็ก ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กที่เล่นเกมทุกคนจะมีพฤติกรรมรุนแรงเสมอไป เราต้องมองอย่างเป็นกลางและเปิดใจในการเล่นเกมของเด็ก ไม่ใช่ว่าการเล่นเกมจะไม่มีผลกระทบด้านลบ แน่นอนว่ามีแต่ต้องอาศัยความเข้าใจและปรับตัวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ในยุคหนึ่งการเล่นสนุกหรือผ่อนคลายอาจเป็นการจิบชา อ่านหนังสือ เล่นหมากฮอส เล่นกีฬากลางแจ้ง แต่เด็กสมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ถ้าคุณเห็นเด็กเล่นเกม อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปว่าเกมจะทำให้เด็กเสียคน หรือเสียการเรียน หากการเล่นเกมนั้นอยู่ในจุดที่เหมาะสม ลองเปิดใจ ทำความเข้าใจว่าเด็ก ๆ เล่นเกมยังไง คุณต้องลองมานั่งเล่นเกมกับลูกหลานดูอาจพบวิธีการอะไรใหม่ ๆ ที่นำมาปรับใช้กับการทำงานได้
เขียนและเรียบเรียงโดย 100WEALTH
———
100WEALTH
สังคมคนทำธุรกิจขนาดใหญ่
มาร่วมเติบโต ไปกับผู้ร่วมเดินทางอีกกว่า 1 ล้านคน ทั้ง เจ้าของธุรกิจ, SME, ขายของออนไลน์, Startup, Entrepreneur และนักลงทุน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน “ไปให้ถึง100ล้าน”
#LevelUp
#100WEALTH
#ไปให้ถึง100ล้าน
#SERVgroup