ยิ่งทำงานเจอคนเยอะ ๆ รู้เลยว่า”ต้องเลิกเป็นมนุษย์ติดเกรงใจ” ทำให้คิดมากเกินเหตุ เลิกงานแล้วเก็บไปคิดต่อ

หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่าหนทางแห่งความสำเร็จคือการตอบรับทุกโอกาสเข้ามาในชีวิต แต่ในความจริงแล้วการเป็นมนุษย์ที่ “Yes Boss!” ตลอดเวลาอาจทำให้ตัวเองถูกเอาเปรียบอยู่ก็ได้ เพราะบางครั้งเราอาจต้อง “Say No” เพื่อเข้าหาโอกาสที่เหนือกว่าเดิม

Kumar Arora ผู้ประกอบการที่ผันตัวมาเป็นนักลงทุน ให้ความเห็นว่าหากคุณตอบตกลงกับทุกสิ่งที่เข้ามา มันไม่ใช่เส้นทางของความสำเร็จ แต่มันเป็นเส้นทางของความเหนื่อยหน่ายแทน

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่าการตอบรับทุกอย่าง จะทำให้ตัวเองเหนื่อยกว่าเดิม แต่ที่ไม่ปฏิเสธ ไม่ใช่เพราะไม่อยาก แต่เพราะไม่รู้จะต้องตอบกลับยังไงมากกว่า เพราะการเป็น “มนุษย์ขี้เกรงใจ” กลัวคนอื่นจะมองว่าก้าวร้าว คิดมากเกินเหตุ อาจทำให้คุณต้องแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว

แม้คำว่า “ไม่” จะเป็นคำพูดที่ง่าย แต่มันกลับเปล่งเสียงออกมาได้ยากกว่าคำว่า “ใช่”

เมื่อทำงานไปนาน ๆ คุณจะรู้เองว่าการออกจากวงการขี้เกรงใจเป็นอะไรที่ง่ายมาก แต่ถ้าคุณยังมองหาหนทางของตัวเองไม่เจอ Kumar Arora ได้เสนอวิธีการปฏิเสธที่จะทำให้คุณหลุดพ้นจากอารมณ์ที่ฉุดรั้งความสำเร็จและการเติบโตในตัวเอง

1. “ขอบคุณที่นึกถึงและเชื่อมั่นว่าจะช่วยได้
แต่ต้องขอโทษด้วยเพราะตอนนี้ไม่สะดวกจริง ๆ”
อย่าแค่บอกปฏิเสธไป แต่ต้องพร้อมให้เหตุผลว่าทำไม


ไม่ใช่แค่พูดว่า “ไม่” แล้วทุกอย่างจะจบเสมอไป เพราะหากพูดห้วนไปก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ หากพูดแบบไม่มีเหตุผลต่อท้ายก็จะดูไม่เหมาะสมและอาจไม่มีใครเข้าหาคุณอีก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการปฏิเสธอย่างสง่างามและให้เหตุผลที่น่าเคารพ

ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนมาขอร้องให้คุณช่วยเรื่องงานแต่ไม่สะดวก แทนที่จะบอกว่า “ไม่ทำ” ก็อาจตอบไปว่า “ขอบคุณที่นึกถึงและคิดว่าฉันสามารถช่วยได้ แต่ตอนนี้ฉันกำลังติดโปรเจกต์อื่นอยู่จึงไม่สะดวกที่จะทำสิ่งนั้น”

2. อย่าเพิ่งรีบตอบกลับไปทันที
เพราะอาจเผลอตอบตกลงด้วยความเคยชิน
เว้นวรรคสักนิด แล้วค่อยตอบกลับ


ถ้าอยากจะปฏิเสธให้สุภาพควรจะเว้นจังหวะในการพูดสักนิดหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งรีบตอบกลับไปทันที ซึ่งมันสามารถใช้กับการพูดแบบต่อหน้า อีเมล ข้อความ หรือโทรศัพท์ก็ได้ การหยุดเว้นช่องว่างไม่ได้ช่วยแค่เพียงให้คุณคิดคำตอบ แต่ช่วยให้คุณไม่เผลอหลุดปากพูดคำว่า “ตกลง”

3. “น่าเสียดายจังที่ไม่สามารถช่วยได้ เอาไว้เป็นคราวหน้าแล้วกันนะ”
ตอบปฏิเสธไปอย่างหนักแน่น อย่าใจอ่อนภายหลัง


หลังจากที่ปฏิเสธไปแล้วควรให้มันเป็นคำตอบสุดท้าย อย่าใจอ้อนพยายามช่วยเหลือเขาเด็ดขาด การยึดมั่นในคำตอบของคุณ เพื่อนร่วมงานและนายจ้างของคุณจะเข้าใจว่าพวกเขาไม่สามารถเกลี้ยกล่อมคุณต่อไปได้ เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกมั่นใจในการตัดสินใจและรับผิดชอบชีวิตของคุณเอง

4. “ขอโทษด้วยแต่พอดีตอนนี้ยังไม่สะดวก
หากเป็นอาทิตย์หน้า อาจพอจะช่วยได้”
อย่าพูดแค่การปฏิเสธ แต่เสนอทางเลือกให้อีกฝ่ายด้วย


เมื่อพูดว่า “ไม่” ไปแล้วคุณอาจเลือกที่จะมอบทางเลือกให้กับอีกฝ่ายแทน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานของคุณขอความช่วยเหลือแต่คุณยุ่งเกินไป คุณสามารถพูดว่า “ขอโทษด้วยแต่ตอนนี้ยังไม่สะดวกที่จะช่วยเหลือในตอนนี้ หากเป็นอาทิตย์หน้าก็จะสามารถช่วยได้” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณต้องการเป็นที่ยินยอมพร้อมใจและช่วยเหลือในขณะเดียวกันก็เคารพขอบเขตของตัวเองด้วย

สร้างกรอบที่จะไม่ทำให้เวลาของเขามาเบียดเบียนเวลาของคุณ

5. อย่าใช้คำว่า “อาจจะได้” แต่ให้ตอบตรง ๆ
ไปเลยว่า “ไม่สะดวก” เพราะความลังเล
อาจทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน


แทนที่จะพูดว่า “อาจจะ” หรือ “คิดว่าน่าจะได้” ให้ตอบแบบตรงไปตรงมาจะดีกว่า เพราะความลังเลไม่ใช่คำตอบ อีกฝ่ายจะไม่รู้ได้ว่าคุณตอบตกลงหรือปฏิเสธกันแน่ ซึ่งผลสุดท้ายมันอาจทำให้ทั้งคู่ได้รับคำตอบที่ไม่ตรงกันและมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนส่งผลเสียต่องานได้

การปฏิเสธไม่ใช่เรื่องของการเสียมารยาท แต่คำตอบที่ตอบกลับต่างหากที่ควรกังวล เราสามารถหาคำตอบที่เหมาะสมในการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้ได้ แต่สิ่งแรกที่คุณควรนึกถึงก่อนใครนั่นคือ “ตัวเอง” อย่าให้สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นอุปสรรคในการเติบโตของตัวเอง เพราะทางข้างหน้ายังมีปัญหาที่หนักหนากว่านี้อีกเยอะ


เขียนและเรียบเรียงโดย 100WEALTH
(Reference in comment)
———
100WEALTH
คอมมูนิตี้คนทำธุรกิจขนาดใหญ่
ที่มีเป้าหมายเดียวกัน “ไปให้ถึง100ล้าน”

มาร่วมเติบโตปลดล็อก “พลังแห่งความสำเร็จ”
Unlock the Power of Success
กับผู้ร่วมเดินทางอีกกว่า 1 ล้านคนไปพร้อมๆ กัน

#Work
#100WEALTH
#ไปให้ถึง100ล้าน
#SERVgroup