เก็บเงินให้งอกเงย แบบได้ผลดีกว่า คือตั้งส่วนที่ “ให้รางวัลตัวเองด้วย”


“อยากเก็บเงินแต่รายจ่ายเยอะ” “เศรษฐกิจไม่ดี” “ข้าวของแพง” “เงินเดือนไม่ขึ้น”

สังเกตว่าคนเราจะมีเหตุผลในการใช้จ่ายเสมอ แต่ทำไมเราไม่ค่อยมีเหตุผลในการเก็บเงินกันบ้างเลย

ทำไมการเก็บเงินถึงเป็นเรื่องยาก ทำไมเราถึงเก็บกันไม่ได้สักที?

จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักสถิติแห่งชาติ ตัวเลขล่าสุด ในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2562 พบว่า

1. ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,371 บาท
2.ส่วนค่าใช้จ่ายนั้น จะอยู่ที่ เดือนละ 21,236 บาท
3.ค่าเฉลี่ยจะมีเงินเหลือ 5,135 บาท

ถ้าคิดเป็นเลขกลม ๆ จะมีเงินเหลืออยู่ที่ 5000 กว่าบาท หรือถ้าใครที่ไม่ได้มีเงินเดือนเท่านี้ ก็คิดเป็น 20% ของรายได้ (หรือ 1 ใน 5 ของรายได้ที่เรามี)

จากตัวเลขค่าเฉลี่ยรายได้ ถ้าเราเก็บเงินเดือนละ 20% หรือ 1 ใน 5 ของรายได้ของเรา ก็ถือว่าเราทำได้เท่าค่าเฉลี่ยของคนไทยแล้ว

แต่คำถามคือ ทุกวันนี้เราสามารถเก็บเงินได้ถึง 20% ของรายได้แล้วหรือยัง ลองสำรวจงบการเงินดูสักนิด ว่าทุกวันนี้เราเก็บเงินคิดเป็น กี่% ของรายได้

ที่ผ่านมาที่เราเก็บเงินไม่เคยได้สักทีเป็นเพราะว่า เราไป “โฟกัสที่วิธีการ” แต่ “เป้าหมายเราไม่เคยชัดเจนเลย” เปลี่ยนแปลงตลอด

ตั้งต้นเก็บเดือนละ 1000 ผ่านไป 3 เดือนก็เริ่มมีรายจ่ายที่ต้องออมไม่ได้ สรรหาวิธีออมเงินแบบสนุกหลากหลายรูปแบบ สักพักก็ล้มเลิก

นั่นเป็นเพราะเราพยายามหาวิธีออม ที่ทำให้ออมได้ยาว แต่สุดท้ายจะพบว่าเราเป็นคนแหกกฎเองเสมอ

มันอาจจะเป็นเพราะ “ตึงเกินไป” วิธีเปลี่ยนนิสัยออมที่ได้ผล แนะนำว่า ให้ตั้ง “ส่วนที่ให้รางวัลตัวเองไว้ด้วย”

ถ้าเดือนไหนเก็บได้ตามที่ตั้งไว้ ก็จะได้ส่วนที่ให้รางวัลตัวเอง ถ้าเดือนไหนออมเงินส่วนก้อนนี้ไม่ได้

อาจจะแบ่งเป็นเงินออม 20% เงินให้รางวัลตัวเอง 10% ประมาณนี้ก็ได้

โดยที่เงินที่ให้รางวัลตัวเองนั้น จะเอาไปใช้อะไรก็ได้ ใช้ให้หมดไปเลย โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด

แบบนี้จะมีโอกาสเก็บเงินออมได้ตามที่ตั้งไว้ได้มากกว่า เพราะเหมือนให้รางวัลตัวเองไประหว่างทางด้วย

ลองเอาไปใช้ดู วิธีเก็บเงินไม่มีสูตรตายตัว มีแต่ “เก็บได้” กับ “เก็บไม่ได้”

วิธีไหนที่ใช้แล้วถูกจริต ตรงกับนิสัยตัวเองมากที่สุด นั้นก็ถือว่า “เป็นวิธีที่สำเร็จแล้ว”