เก็บความคิดมาเป็น “งานเขียน” กับรายได้เพิ่ม 5 หมื่น เพิ่มตะกร้าใบที่สอง

ตะกร้าหลายใบยังไงก็ดีกว่าในยุคที่ “ไม่มีอะไรแน่นอน” คนที่มีรายได้เยอะ และ มีรายได้หลายทาง ล้วนมีสิ่งที่เหมือนกัน
นั้นคือ เริ่มต้นจากการเห็นความเสี่ยงจากการมีรายได้ทางเดียว

เราทุกคนล้วนมีธุรกิจซ่อนอยู่ในตัว อย่างน้อยคนละ 1 ธุรกิจ โดยสิ่งเหล่านี้มักจะอยู่ในรูปแบบของ ความชอบ งานอดิเรก หรือ สิ่งที่เราถนัด เพียงแต่เราต้องเอามันออกมาปัดฝุ่นใช้ “หาเงิน” เท่านั้นเอง

ดังนั้น การทำเงินจึงต้องเริ่มมองหาสิ่งที่เป็นต้นทุนหลังจากความชอบและงานอดิเรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็มีได้

แบบคุณนาฟิส ที่เริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านตัวยง ที่ชอบจับประเด็นดี ๆ มาคิดเรียบเรียงออกมาเป็น “คอนเทนต์”แล้วนำไปเขียนลงในเพจ “สมองไหล” ทั้งช่องทาง Facebook และ Blockdit

จากเพจเล็กๆ โนเนม จนก้าวสู่การเพิ่มยอดผู้ติดตาม มากกว่า 100,000 คน ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนสามารถทำรายได้มากกว่า 100,000 แสนบาท แถมยังได้ออกทีวีรายการชื่อดังอีกด้วย

จุดเริ่มต้นจาก “งานประจำ” สู่เจ้าของเพจ และก็ยังทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปด้วย เป็นรายได้ 2 ทาง

คุณนาฟิส” เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ตั้งแต่สมัยเรียน โดยจะพกหนังสือติดตัวไปอ่านทุกทีเสมอ

จนเพื่อนๆ ถามว่า “อ่านอะไร” ? และอยากจะรู้เรื่องราวในหนังสือที่อ่านบ้าง แต่เขาขี้เกียจอ่าน จึงขอให้คุณนาฟิสเล่าให้ฟัง…

หลังจากนั้น พอเล่าให้คนหนึ่งฟัง ก็มีคนที่สอง คนที่สาม และอีกหลายๆ คนอยากฟังด้วย เมื่อเริ่มมีคนสนใจมากขึ้นจนตัวเองต้องเล่าเรื่องเดิม ๆ ซ้ำหลายรอบ ให้หลายคนฟัง ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นสรุป โดยการ Live ผ่าน Facebook ส่วนตัวให้เพื่อน ๆ เข้ามาดูกันเอง

เมื่อมีการ Live ทุกวัน และเริ่มมีตอนมากขึ้น ทำให้คุณนาฟิสรู้สึกว่าต้องมีชื่อรายการขึ้นมาสักชื่อ ก็เลยตั้งชื่อรายการว่า “สมองไหล”

ตอนนั้นที่ทำไปก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะคิดว่ายังไงตัวเองก็อ่านหนังสืออยู่แล้ว การได้มาสรุปย่อยประเด็นให้เพื่อน ๆ ฟัง ก็เป็นเรื่องดี เพราะมันทำให้ตัวเองเข้าใจเนื้อหาที่อ่านมากขึ้นไปในตัว

พอเริ่มก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ก็ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง จนได้ค้นพบว่าหลายเรื่องจากในหนังสือ มันสามารถนำไปใช้ในที่ทำงานจริงได้

ได้เข้าใจ HardSkill SoftSkill มากกว่าคนอื่น และยังค้นพบด้วยว่า “การได้อ่านหนังสือมันเปิดโลกกว้างให้กับตัวเองมาก ๆ”

จึงทำให้เรื่องราวที่นำมาเล่าใน Live เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะได้นำสิ่งที่อ่านในหนังสือไปใช้กับชีวิตการทำงานจริงก่อน แล้วค่อยนำประสบการณ์ที่ได้มาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังอีกที ซึ่งผลตอบรับที่ได้ก็ดีขึ้นมาก ๆ เริ่มมีคนที่ไม่ใช่เพื่อนเข้ามาฟังมากขึ้น

และนอกจากการอ่านหนังสือแล้ว คุณนาฟิส ก็ชอบเข้าไปอ่านบทความใน แอปพลิเคชัน Blockdit ด้วย โดย Blockdit เป็นแอปที่เหมือนคลังหนังสือออนไลน์ ที่ให้คนทั่วไปสามารถมาเขียนบทความของตัวเองลงไปได้ ซึ่งตอนแรกก็โหลดเก็บไว้อ่านของคนอื่นอย่างเดียว

แต่อยู่มาวันหนึ่งทาง Blockdit ประกาศเปิดให้ นักเขียนสามารถ “สร้างรายได้” จากการเขียนบทความลงในแอปฯ ได้ คุณนาฟิสจึงตัดสินใจสร้างเพจขึ้นใน Blockdit ซึ่งก็ใช่ชื่อเดิมว่า“สมองไหล” แล้วเปลี่ยนจากการ Live มาเป็นเขียนบทความลงเพจและสร้างรายได้จากตรงนั้นแทน

คราวนี้จึงเริ่มโฟกัสและจริงจังกับการทำเพจมากขึ้น หาทางโปรโมท หาดูว่า “คอนเทนต์” แบบไหนคนชอบ แบบไหนคนไม่ชอบ ปรากฏว่าคนติดตามเยอะมากถึง 5 หมื่นคน จนติดระดับ Top 5 ของ Blockdit ที่มีคนติดตามมากที่สุด

หลังจากทำใน Blockdit ไปสักระยะ จนสามารถทำเงินได้ประมาณ 5,000 – 7,000 บาท/เดือน คุณนาฟิสก็ได้เปิดเพจบน Facebook อีกช่องทางหนึ่งควบคู่ไปด้วย เพราะคิดว่าไม่ได้เสียหายอะไร ก็แค่นำบทความจาก Blockdit ไปลง Facebook อีกที ไม่ได้เสียหายอะไร

แต่พอทำไปได้ไม่นาน คุณหนุ่ม กรรชัย พิธีกรรายการทีวีได้เข้ามาอ่านบทความในเพจของตน แล้วนำไปเล่าในรายการข่าวใส่ไข่ ทางช่องไทยรัฐทีวี จนทำให้คนตามมาติดตามใน Facebook page จากหลักร้อย กลายเป็นหลักพัน

หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน คุณหนุ่ม กรรชัย ก็เข้ามาอ่านอีกครั้ง ต่อคราวนี้ไม่ใช่แค่นำบทความไปเล่า แต่เชิญคุณนาฟิสไปเป็นแขกรับเชิญในรายการ โหนกระแส ทางช่อง 3 เลย จนทำให้ผู้ชมรายการตามมาติดตามใน Facebook page เพิ่มอีก จากหลักพันกลายเป็นหลักหมื่น

เมื่อเริ่มมีฐานผู้ติดตาม ประกอบกับการวาง “คอนเทนต์” ที่ดี จึงทำให้เพจพุ่งทะยานจากผู้ติดตามหลักร้อย กลายเป็นหลักแสน ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน

หลังจากนั้น มีคนส่งข้อความมาหาคุณนาฟิสทางเพจ สมองไหล มากมายว่า “เพจสมองไหล ทำให้พวกเขาเปลี่ยนจากคนไม่เคยคิดจะอ่านหนังสือ กลายเป็นอยากอ่านหนังสือ และรู้ว่าในหนังสือมีอะไรดีๆ มากมายอย่างที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน และอยากให้คุณนาฟิสแนะนำหนังสือที่เขาควรอ่านสักเล่ม”

คุณนาฟิสจึงมองเห็นปัญหาว่า มีคนมากมายที่อยากอ่านหนังสือ แต่ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะสมและถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเขา ซึ่งถ้าพวกเขาเดินไปร้านหนังสือ ก็ไม่มีใครสามารถให้คำแนะนำพวกเขาได้

คุณนาฟิสจึงเปิดให้คำปรึกษา สำหรับคนที่อยากอ่านหนังสือ แต่ไม่รู้ว่าควรอ่านเล่มไหน ซึ่งคุณนาฟิสจะเป็นคนจัดหนังสือที่เหมาะสมให้พวกเขาเหล่านั้น และสามารถสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ผ่านทางเพจสมองไหลได้เลย

จนมีรายได้จากการเขียนบทความลง Blockdit และ จากการขายหนังสือบน Facebook รวมกันถึง 1 แสนบาท เป็นการเพิ่มช่องทางรายได้อีกหนึ่งช่องทางควบคู่ไปกับการทำงานประจำ

ซึ่งคุณนาฟิสได้แชร์สิ่งที่สำคัญสำหรับการทำเพจให้ประสบความสำเร็จ เอาไว้ให้ 3 ประการ ดังนี้

เทคนิคที่ 1 “ใช้ความสนุก”

ก่อนที่เราจะถ่ายทอดอะไรออกมาเราต้อง “สนุก” กับมันก่อน การเขียนเหมือนเป็นศิลปะ ถึงแม้ว่าเรื่องที่เราอ่านจะมีเนื้อหาที่ไม่สนุก แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ เราต้องถ่ายทอดมันออกมาให้สนุกให้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ภาษา เพราะบางทีปัญหาที่ทำให้คนอ่านแล้วไม่เพลิดเพลินอาจเป็นเพราะ “การใช้ภาษาเทคนิคมากเกินไป”

ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนภาษาเทคนิคเหล่านั้น ให้เป็นภาษาที่อ่านง่าย และ สนุก แต่ยังคงยึด “แก่น” ของเนื้อหาสาระเอาไว้

เทคนิคที่ 2 “การใช้ภาษา”

คุณนาฟิสบอกว่า เขาจะไม่ใช้ “ภาษาพูด” เลย ในงานเขียน เพราะภาษาพูดเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ เพราะในอีก 3-5 ปี ภาษาพูดที่ใช้กันในวันนี้อาจจะไม่นิยมใช้แล้ว ลองคิดดูว่าถ้าคนใน 3-5 ปีข้างหน้าอ่านงานเขียนของเราที่เคยเขียนไว้ในวันนี้ พวกเขาจะเข้าใจไหม ?

การใช้ “ภาษาเขียน” จะทำให้ งานเขียนของเราเป็น “อมตะ” ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม

เทคนิคที่ 3 “การใช้พาดหัวให้เป็น”

พาดหัว เรียกได้ว่า เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายเลย ของ คอนเทนต์ เลยก็ว่าได้… ครั้งหนึ่งคุณนาฟิสเคยนำคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเหมือนกัน แต่ใช้พาดหัวที่แตกต่างกัน

ปรากฏว่า “พาดหัวเดิม” ที่ธรรมดามีคนแชร์ประมาณ 50 คน แต่พอเปลี่ยนพาดหัวใหม่ที่ดีขึ้น พบว่ามีคนแชร์มากถึง 10,000 กว่าคน (ในเพจ Facebook) เลยทีเดียว

ซึ่งเทคนิคการเขียนคำพาดหัว คุณนาฟิสจะใช้พจนานุกรม เพื่อหา “คำเหมือน” ที่ “ทรงพลัง” กว่า มาใช้เป็นพาดหัว

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “แสงสว่าง” พอเปิดพจนานุกรมแล้วมันอาจจะมีคำว่า “เจิดจ้า” ซึ่งเป็นคำที่ความหมายเหมือนกัน แต่กลับ “ทรงพลัง” กว่า เป็นอย่างมาก

เทคนิคที่ 4 “ตัดคำที่ไม่จำเป็นออก”

ด้วยความที่คุณนาฟิสเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงทำให้ซึมซับวิธีการเขียนในหนังสือมา จนทำให้เวลาเขียนบทความลงโซเชียลก็จะเขียนยืดยาวไม่ค่อยน่าอ่าน…

การเขียนในโซเชียลมันควรจะเขียนแบบกระชับเหลือไว้เพียงเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญจริง ๆ เท่านั้น เพราะคนเล่นโซเชียลเขาไม่ได้มีเวลาเยอะ ความกระชับจึงเป็น “สิ่งที่สำคัญ” สำหรับผู้อ่านมากที่สุดในยุคนี้

เทคนิคที่ 5 “สร้างความเป็นแบรนด์”

ความเป็นอัตลักษณ์ การดีไซน์ และวิธีการเขียนจะต้องชัด ชัดขนาดที่ว่า เมื่อผู้อ่านเห็นรูปปกบทความหรือได้อ่านเนื้อหาบางส่วน จะต้องรู้ทันทีว่าเป็นเรา โดยไม่ต้องอ่านชื่อเพจ… เพราะคุณนาฟิสเชื่อว่า ผู้อ่านสามารถอ่านบทความได้มากที่สุด ประมาณ 5 บทความต่อวัน แต่จำนวนเพจกลับกัน คือ มีเป็นร้อยเป็นพันเพจ

ดังนั้น ต้องทำยังไงก็ได้ให้เราสามารถเข้าไปเป็น 1 ใน 5 บทความที่เขาเลือกอ่านในแต่ละวันให้ได้ โดยการส่งมอบ คุณค่า” ผ่านทาง “คอนเทนต์” ที่เราเขียนไปยังผู้อ่าน

และถ้าเราสามารถสร้างคุณค่าให้ผู้อ่านจนเป็น 1 ใน 5 นั้นได้แล้ว จึงจะถือว่า “ประสบความสำเร็จในการทำคอนเทนต์”

สุดท้ายนี้คุณนาฟิสได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สำหรับคนที่กำลังอยากทำเพจ อยากทำคอนเทนต์ ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบก่อน แล้วถึงจะลงมือทำ แต่ให้เริ่มลงมือทำ ทั้งที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะวันหนึ่งสิ่งที่เราทำ จะทำให้เรากลายเป็นคนที่สมบูรณ์แบบเอง

แต่หากไม่ยอมเริ่มต้นทำจุดแรกสักที ก็ไม่มีทางเลยที่จะมองเห็นจุดต่อไป…

BLOCKDIT : https://www.blockdit.com/brain_flow
FACEBOOK PAGE : https://web.facebook.com/Samounglai2019/